top of page

ความห่วงใยแม่น้ำโขง

สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้จำนวนของปลาลดลงนั่นคือระดับน้ำที่มีการขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนแต่ก่อนซึ่งสาเหตุของปัญหาก็มาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนที่สร้างขึ้นทำหน้าที่ควบคุมน้ำ 2 วันปล่อยน้ำมา 3 วันปิดเขื่อนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติส่งผลกระทบต่อคนและปลา อย่างตอนเช้าน้ำลง ตอนเย็นน้ำขึ้น ชาวประมงก็หาปลาไม่ได้ปลาก็สับสนเกี่ยวกับน้ำขึ้นน้ำลง

ตาบรรจงกับเรื่องราว “ข้าวจี่” ล่อปลา

ลมเย็นๆ พัดโชยมาในช่วงแดดร่มลมตกเหมาะแก่การขับรถเล่นชมบรรยากาศผู้เขียนไม่รีรอรีบชวนเพื่อนๆ ขับรถเลาะริมโขงขับไปเรื่อยๆ เพราะวันนี้นัดหมายกับชาวประมงคืือ ตาบรรจง พอถึงบ้านแก พบว่า ที่กำลังตั้งวงกินข้าวเที่ยงใต้ต้นมะม่วงหน้าบ้าน กลิ่นปลาเผาหอมโชยมาพร้อมกับเสียงทักทายชวนกินข้าว  ผู้เขียนกับเพื่อนๆ ไม่รอช้ารีบตรงดิ่งไปหาคุณตาบรรจง ซึ่งเป็นผู้มีภูมิรู้เกี่ยวกับการประมงแม่น้ำโขง  คุณตาบรรจงเดินถือถังเปล่าไปหลังบ้านพร้อมกับชักชวนผู้เขียนและเพื่อนๆตามไปดูวิธีการทำอาหารล่อกุ้งล่อปลาเมื่อไปถึงหลังบ้านจะมีเตาที่มีไฟอ่อนๆ ติดอยู่และบนเตานั้นมีก้อนกลมๆ สีดำขนาดประมาณลูกเทนนิส 4 - 5 ลูกวางอยู่บนเตา

คุณตาได้เล่าให้ผู้เขียนฟังต่อว่าปลาในแม่น้ำโขงแต่ก่อนมีเยอะมีทั้งปลากินพืช ปลากินสัตว์ อย่างที่ตาทำอยู่จะเป็นอาหารของสัตว์น้ำที่กินพืช เพราะทำมาจากข้าวเหนียวและรำพูดไปพลางคีบก้อนข้าวจี่ รำจี่ พลิกไปพลิกมาแกได้เล่าถึงกระบวนการขั้นตอนตั้งแต่เริ่มว่าเราจะนำข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาทุบให้แหลกระหว่างทุบจะให้น้ำเปล่าคอยหยอดเพื่อให้ข้าวเหนียวละเอียดได้ง่ายขึ้น และข้าวจะยิ่งเหนียวและสามารถปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ได้ง่ายขึ้นรำจี่เราก็จะใช้วิธีการเดียวกันและข้าวผสมรำจี่ก็ทำเหมือนกันเพียงแต่เราจะผสมระหว่างข้าวและรำ ระหว่างที่แกพูดนั้นมือก็ไม่ได้หยุดพัก  พลิกก้อนกลมๆ ไปมายิ่งก้อนกลมๆ ดำขึ้นมากเท่าไหร่กลิ่นยิ่งหอมคลุ้งมากขึ้นเท่านั้น ความหอมนี่แหล่ะที่เป็นตัวล่อให้กุ้งให้ปลามาติดกับดักทุกครั้งไปคุณตาพูดจบพร้อมกับยิ้มกว้างและหัวเราะเบาๆ เมื่อก้อนกลมๆ ทั้ง 4 - 5 ก้อน สุกจนได้ที่ก็ได้ชวนผู้เขียนไปล่องเรือเพื่อไปวางอาหารล่อกุ้งล่อปลาซึ่งท่าเรือไม่ได้ไกลจากบ้านมากเท่าไหร่นักพวกเราตอบตกลงในทันที

 

ระหว่างที่คุณตาบรรจงพายเรือออกจากฝั่งก็ได้เล่าให้ฟังว่าพ่อแม่เป็นคนลาวที่อพยพมาอยู่ไทยแกเลยสามารถฟัง พูด อ่าน เขียนลาวได้ แต่ก่อนเวลามีงานในอบต. หรืออำเภอที่มีตัวหนังสือหรือข้อความที่เป็นภาษาลาวเขาก็จะมาขอให้แกช่วยอ่านให้ก็เลยได้ไปช่วยงาน อบต.หรืออำเภออยู่บ่อยครั้งแกยังได้เล่าถึงประสบการณ์การหาปลาในแม่น้ำโขงว่าช่วงฤดูกาลนี้เป็นฤดูกาลของปลาเอินปลาเอินจะขึ้นมาผสมพันธุ์นั้นจะเป็นช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคมของทุกปี แต่ปีนี้ยังไม่เห็นเลยข้าวจี่ที่ทำมาบางส่วนก็ไว้ใช้ล่อกุ้งบางส่วนก็ไว้ใช้ล่อปลาเอินรวมถึงปลากินพืชชนิดอื่นๆ ด้วยสถานที่พบปลาเอินนั้นแกบอกว่าปลาเอินจะขึ้นมาบริเวณที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คอนคำ” พร้อมกับชี้ไปที่ก้อนคอนคำและจะขึ้นมาผสมพันธุ์กันที่บริเวณนี้ที่เดิมเป็นประจำทุกๆ ปี ในช่วงฤดูที่ผสมพันธุ์นี้ปลาเอินจะขึ้นมาผสมพันธุ์กันที่น้ำตื้นประมาณ 5 - 7  เมตร  โดยก่อนที่ปลาเอินจะขึ้นมาผสมพันธุ์จะสามารถสังเกตเห็นได้เลยเนื่องจากปลาเอินนั้นจะขึ้นมาบ้อนน้ำขึ้นมาเล่นน้ำประมาณ 20 - 30 ตัว ลักษณะที่มาเล่นจะเล่นกันแบบสนุกสนานลักษณะที่มาเล่นจะเล่นกันแบบสนุกสนาน

 

เมื่อผสมพันธุ์เสร็จเรื่องของการวางไข่คุณตานั้นบอกว่าตนไม่ทราบว่าปลาเอินวางไข่ตรงไหนหรือบริเวณไหนหรือลักษณะน้ำแบบไหนเท่าที่คุณตาทราบ คือตัวอ่อนของปลาเอินจะอยู่บริเวณชายฝั่งน้ำตื้นที่น้ำไม่ได้ไหลแรงมาก เนื่องจากลูกปลาเอินยังเล็กไม่มีแรงมากพอที่จะว่ายน้ำในกระแสน้ำที่แรงมากได้ ดังนั้นแล้วลูกของปลาเอินก็จะอาศัยอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำที่น้ำนิ่งหรือเข้าสู่แม่น้ำสาขาพอปลาเอินเติบโตขึ้นมา ปลาเอินจะอาศัยอยู่บริเวณที่มีน้ำไหลเชี่ยวและลึกในเรื่องของการหลงฤดูของปลาเอิน คุณตาบอกว่าเคยจับได้ในช่วงที่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ปลาเอินจะขึ้นมาผสมพันธุ์กันแต่ก็ไม่ได้เยอะมากและเท่าที่สังเกต คุณตาบอกว่าในแม่น้ำโขงจะพบปลาเอินตัวเมียจะมากกว่าตัวผู้พูดจบเรือก็กำลังจอดเทียบท่าถึงที่ที่แกต้องเปลี่ยนข้าวจี่เพราะข้าวจี่เดิมละลายหายไปหมดแล้ว วันนี้มีปลามากินข้าวจี่ รำจี่แล้วติดตุ้มอยู่ 3 - 4 ตัวลำตัวมีขนาดเล็กเท่าฝ่ามือแกบอกว่าแกจะเอาไปเลี้ยงต่อในบ่อดินเพราะตัวยังเล็กเกินไปยังกินไม่ได้พูดจบแกก็โยนปลาขึ้นเรือหลังจากที่แกเปลี่ยนข้าวจี่ครบทุกที่ก็ถึงเวลาเดินทางกลับ

 

ข้าวจี่ - รำจี่ นับได้ว่าเป็นอาหารที่ใช้งบประมาณที่ประหยัดในการทำ

และยังเป็นเหยื่อล่อสัตว์กินพืชได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

นับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาที่น่ายกย่องเป็นอย่างมากทีเดียว  

ที่ควรจะสืบสานองค์ความรู้เช่นนี้ให้คงไว้ เพราะสามารถนำสิ่งของที่มีอยู่ใกล้ตัว

มาแปรรูปให้เกิดประโยชน์ได้และมีน้อยคนนักที่จะรู้จัภูมิปัญญาชั้นดีนี้

ระหว่างทางกลับบ้านท้องฟ้าเริ่มจะเปลี่ยนสีเป็นสีชมพูแกมม่วงเล็กน้อยอากาศเริ่มเย็นลงเรื่อยๆคุณตาก็เล่าถึงปลาเอินต่อว่า ยังเชื่อว่าในน้ำโขงยังคงมีปลาเอินอยู่เพียงแต่จะมีมากหรือมีน้อยแค่นั้นในปัจจุบันปลาเอินในแม่น้ำโขงมีจำนวนลดน้อยลงเยอะมากกว่าปีที่ผ่านมาแกได้อธิบายถึงสาเหตุของการลดจำนวนลงของปลาเอินว่าเป็นเพราะว่าทั้งมีคนหาปลาเยอะขึ้น ทั้งมีการระเบิดปลา การช็อตปลา ที่ส่งผลให้ปลาทุกชนิดในแม่น้ำโขงน้อยลงไม่ใช่แค่ปลาเอินปลาบางชนิดแทบจะหาไม่ได้แล้ว เนื่องจากมีจำนวนลดน้อยลงและสูญพันธุ์ไปบ้างแล้วก็มี นอกจากนี้สาเหตุ  ที่สำคัญ ที่ทำให้จำนวนของปลาเอินลดลงนั่นคือระดับน้ำที่มีการขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติเหมือนแต่ก่อนซึ่งสาเหตุของปัญหาก็มาจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง เขื่อนที่สร้างขึ้นทำหน้า ที่ควบคุมน้ำ 2 วันปล่อยน้ำมา 3 วันปิดเขื่อนทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงขึ้นลงผิดปกติส่งผลกระทบต่อคนและปลาอย่างตอนเช้าน้ำลงตอนเย็นน้ำขึ้น ชาวประมงก็หาปลาไม่ได้ปลาก็สับสนเกี่ยวกับน้ำขึ้นน้ำลง

 

 

การที่จะทำให้ปลาเอินในแม่น้ำโขงกลับมาเยอะเหมือนเดิมคุณตาบอกว่าเป็นเรื่องที่ยากมากพูดไปพร้อมกับส่ายหน้าไปเพราะการระเบิดปลา การช็อตปลา ทางฝั่งลาวสามารถทำได้แต่ฝั่งเราทำไม่ได้ถึงแม้เราจะช่วยกันก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ อย่างการที่กรมประมงเข้ามาช่วยเหลือในการเพาะพันธุ์ปลาเอินปล่อยลูกปลาเอินลงสู่แม่น้ำโขงก็ไม่ได้การันตีเสมอไปว่าปลาเอินในน้ำโขงจะมากขึ้นเพราะว่าถ้าสมมติปล่อยลงไป 100 ตัว อาจจะมีชีวิตรอดแค่ 50 ตัว การปล่อยตัวเล็กอาจทำให้การรอดชีวิตของปลาเอินมีน้อยลงคุณตาได้คิดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาให้พวกเราฟังว่าก่อนที่จะมีการปล่อยลูกปลาเอินลงแม่น้ำโขงนั้นควรมีการอนุบาลเสียก่อนและที่สำคัญอยากที่จะให้กรมประมงเข้ามาสอนการเพาะเลี้ยงลูกปลาเอินให้กับชุมชนเพราะถ้าหากจะให้ไปเรียนรู้งานที่กรมประมงคุณตาบอกว่าเราก็ไม่ได้มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะใช้ในการไปเรียนรู้งานในแต่ละครั้งได้ ในส่วนวังสงวนหรือเขตอนุรักษ์นั้นแกก็มองว่าเราไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าปลาเอินจะเข้ามาอยู่ที่เขตสงวนที่ทำไว้หรือไม่ปลาเอินอาจจะอพยพไปอยู่ที่อื่นก็เป็นไปได้และถ้าหากในอนาคตระดับน้ำนั้นยังมีการผันผวนแบบนี้อยู่จะเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทำมาหากินของชาวประมง  แปลงผักเกษตรริมโขงของชาวบ้าน ปลาหรือสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขงก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบ  อย่างที่เราเห็นแปลงผักริมโขงลดลงสาเหตุก็เกิดจากที่ตาได้เล่าไปน้ำเสียงที่สื่อออกมาผู้เขียนสามารถรับรู้ได้ถึงความหดหู่ที่เกิดขึ้นบทสนทนาจบลงเรือก็จอดเทียบท่าเดิมพอดีท้องฟ้าเริ่มมืดพวกเราจึงขอลาคุณตากลับบ้านต่างฝ่ายต่างโบกมือร่ำลาและแยกย้ายกลับบ้าน

บรรจง 3.jpg
P1366708.jpg

งานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขง

28 ก.พ. 2567 ศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง 

บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

bottom of page