top of page
P1311198.jpg

Mekong Youth

Mekong Youth Camp , 11-13 สิงหาคม 2566

กิจกรรมฝึกอบรมพัฒนาทักษะเยาวชนแม่น้ำโขงเพื่อการสื่อสาร Mekong Youth Camp ณ จวนผู้ว่าหลังเก่า อ.เมือง จ.หนองคาย ในวันที่ 11-13 สิงหาคม 2566 เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งในงานสัปดาห์แม่น้ำโขง มารดาแห่งสายน้ำ โดยลักษณะกิจกรรมจะเป็นการฝึกอบรทักษะด้านการสื่อสารให้กับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่โครงการ Mekong for the future จากพื้นที่ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และ เยาวชนจาก ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย รวมทั้งเยาวชนจาก สปป.ลาว ทั้งหมดจะได้รับการฝึกทักษะทางด้านการผลิตสื่อกับวิทยากรผู้มีประสบการณ์ในแต่ละด้าน คือ ศิลปะการวาดภาพ การผลิตเนื้อหาสารคดี การผลิตหนังสั้น และการผลิตเนื้อหาข่าว โดยผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ทั้งหลักทฤษฎีและการปฎิบัติจริงในช่วงเวลา 3 วัน 2 คืน และจะมีการผลิตผลงานและนำเสนอผลงานโดยมีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน 34 คน แบ่งเป็นเยาวชนจาก ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย จำนวน 11 คน จาก ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย จำนวน 13 คน และจาก สปป.ลาว จำนวน 10 คน โดยแบ่งกลุ่มเรียนรู้ได้ดังนี้

1.    เยาวชนกลุ่มวาดภาพ จำนวน 8 คน วิทยากรคือ ครูเบิ้ม ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์ ศิลปินผู้ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเขียนภาพ และได้ตระเวนสอนเด็กๆและเยาวชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยใช้เครื่องมือในการวาดภาพเช่น ดินสอ กระดาษ สี แปรง พู่กัน สร้างจินตนาการออกมา เริ่มจากลำดับการร่างความคิดจินตนาการผ่านดินสอ ครูปรับแก้ไขให้ความคิดเห็น แก้ไขแล้วค่อยลงสีจริง จนจบกระบวนการสร้างสรรค์ได้ผลงานออกมา จากการติดตามเฝ้าสังเกต ทำให้เห็นว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเพียงกลุ่มที่สนใจทางด้านภาพวาด แต่ไม่ได้มีทักษะเป็นพื้นฐานหรือพรสวรรค์ด้านนี้มาก่อน แต่จากประสบการณ์และความสามารถของวิทยากรที่ตระเวนสอนศิลปะให้กับเด็กในหลายพื้นที่ ทำให้สามารถเฟ้นหาความสามารถของเด็กออกมาได้ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม นางสาวสุภาวรรณ ชาวเขา เยาวชนจากโรงเรียนวังม่วงพิทยาคม  บอกว่า ตัวเองไม่ได้มีพรสวรรค์ด้านนี้จึงอยากเรียนรู้จากครูวิทยากรที่มาสอนเพื่อลองฝึกหัดวาดภาพ ส่วนผลงานได้แรงบันดาลใจมาจากปลาชนิดหนึ่งที่ใกล้จะสูญพันธ์คือปลายี่สกไทยหรือปลาเอินแม่น้ำโขงเลยอยากจะเขียนภาพนี้ไว้ท่ามกลาางบรรยากาศแวดล้อมคือวัด ป่าไม้ที่เห็นในชุมชนตลอดมา การฝึกอบรมในครั้งนี้นอกจากได้ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขงแล้วยังได้เพื่อนจากต่างโรงเรียนและจาก สปป.ลาวด้วย รู้สึกดีใจมาก ทางด้านครูเบิ้มซึ่งทำหน้าที่เป็นวิทยากรในครั้งนี้ได้กล่าวว่า การฝึกอบรมในครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าพอใจทั้งๆที่น้องๆไม่ได้เรียนศิลปะมา แต่ทุกคนมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับสายน้ำ แม่น้ำโขงจึงทำให้สร้างผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจในสายตาครูจากการสอนในครั้งนี้จาก 8 ผลงานในระยะเวลา 2 วันของการฝึกอบรม 

2.    กลุ่มเยาวชนเรียนรู้งานสารคดี จำนวน 6 คน ได้ฝึกอบรมกับวิทยากร  ธีรยุทธ์ วีระคำ  นักทำสารคดีอิสระมีผลงานสารคดีที่สำคัญคือ Blood of the river สารคดีที่บันทึกช่วงเวลาผลกระทบจากการทดลองดำเนินการเขื่อนไซยะบุรี ในเดือน กรกฎาคม 2562 โดยในวันแรกวิทยากรได้ถ่ายทอดเนื้อหาเกี่ยวกับสารคดีในหลากหลายแง่มุม รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงความคิดมุมมองของผู้สร้างสารคดีซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการเล่าเรื่องและเป็นความแตกต่างของผลงานในแต่ละเรื่อง การฝึกอบรมสารคดีได้เลือกใช้พื้นที่ว่างอาคารจวนเพื่อแยกกลุ่มพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ในวันที่สองของการฝึกอบรมเยาวชนทั้ง 6 คนได้ฝึกการใช้อุปกรณ์ในการทดลองทำงานโดยวิทยาการได้แนะนำการใช้กล้องประเภท DSLR และ อุปกรณ์โทรศัพท์ที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน หลังจากได้แนะนำเรื่องอุปกรณ์แล้วก็ได้ให้น้องๆได้ออกแบบเรื่องที่จะนำเสนอเพื่อเตรียมผลิตชิ้นงานสารคดีสั้นๆ ออกแบบแผนการถ่ายทำ แบ่งหน้าที่ทีมงาน และได้เดินทางไปถ่ายทำในระยะใกล้เพื่อได้ทดลองทำงานจริง โดยทีมเยาวชนกลุ่มนี้ตกลงกันที่จะนำเสนอประเด็นเรื่องขยะในแม่น้ำโขง    

ธีรยุทธ์ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้นอกจากสอนให้เด็กๆ ได้รู้จักอุปกรณ์ เรียนรู้เทคนิคแล้วที่สำคัญคือการเปิดมุมมองทางความคิดไม่ให้ติดกรอบกับการสร้างผลงานแบบเดิมๆ ที่ผ่านมา โดยเด็กๆ เป็นคนเลือกประเด็นเอง ออกแบบการถ่ายทำและลำดับการเล่าเรื่องเอง ที่สำคัญคือทีมเยาวชนกลุ่มนี้เลือกการตัดต่อชิ้นงานด้วยโทรศัพท์ซึ่งเป็นความถนัดตามวัยและตามยุคสมัยของเขาทำให้เราได้เรียนรู้ไปกับคนรุ่นใหม่ด้วย ในตัวประเด็นวิทยากรให้ความเห็นว่าเป็นสิ่งพิเศษที่คนเล่าสารคดีได้ใช้ชีวิตอยู่กับแหล่งข่าวหรือสถานที่เช่นแม่น้ำโขงอย่างใกล้ชิด ถ้าจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างเหมาะสมเขาเชื่อในศักยภาพของคนรุ่นใหม่ว่าสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้ดี

 

ลิ้งค์ผลงานจากเยาวชนกลุ่มสารคดี

https://drive.google.com/file/d/1gBBzI1hoHoDPDynAxsiBnmIuWwq8XAbk/view?usp=sharing

3.    กลุ่มเยาวชนผลิตหนังสั้น ได้ฝึกเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฎิบัติจากวิทยากร นคร ไชยศรี จาก CCCL flm festival (เทศกาลโลกป่วยเราต้องเปลี่ยน) มีเยาวชนเข้าร่วมกลุ่มจำนวน 10 คน  แบ่งหน้าที่ตามลักษณะการทำงานกองถ่าย เยาวชนบางคนก็ต้องรับบทบาทนักแสดงไปด้วย วิทยากรได้ออกแบบพล็อตเรื่องง่ายๆ เพื่อให้เยาวชนเข้าใจขั้นตอนการทำงาน จากการเฝ้าสังเกตการณ์กองถ่ายหนังสั้นในครั้งนี้ เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ และได้ผลงานออกมาเป็นที่น่าพอใจ การแสดงของเยาวชนดูสมจริงไม่มีความเคอะเขิน ขวยอาย กล้าแสดงออก บทพูดไม่ติดขัด ผลงานที่ได้ออกมามีความยาว 3 นาที และได้สะท้อนบทบาทความเป็นหนังสั้นออกมาได้อย่างดีคือการเล่าเรื่องปัญหาด้วยพล็อตเรื่องแบบง่ายๆ แต่สามารถเสียดสีทิ่มแทงและให้ผู้ชมได้ครุ่นคิดต่อ โดยในเรื่องราวหนังสั้นที่ทีมเยาวชนได้ร่วมกันออกแบบคือการสะท้อนปัญหาที่มีอยู่ผ่านตัวละครเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงไปสู่การตั้งคำถามว่าตัวเขาเองสามารถเข้าถึงการแก้ปัญหาผ่านระดับผู้บริหารพื้นที่ได้อย่างไร ในความเป็นจริงกลับพบว่าการเรียกร้องการแก้ปัญหากลับไม่ได้ทำได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์เนื่องจากระบบกลไกของรัฐและความเหลื่อมล้ำในเชิงอำนาจของสังคมไทย

ทางด้านวิทยากรการอบรมหนังสั้นในครั้งนี้ได้ให้ความเห็นว่า เยาวชนในพื้นที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแม่น้ำ วิถีชีวิตผู้คนได้เป็นอย่างดีและจริงๆเขาก็คือผู้ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชุมชน รายได้ครอบครัว จากแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงโดยตรงการอบรมครั้งนี้หรือการทำหนังแค่เรื่องเดียวคงไม่ได้ช่วยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนักเยาวชนควรได้รับการสนับสนุนในเรื่องของการสื่อสารจากผู้สนับสนุนเช่นแหล่งทุนต่างๆให้ได้มีโอกาสดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ลิ้งค์ภาพยนต์ https://drive.google.com/file/d/1CxBWhPeRbbQujDQvi5JdY-hhchADuf5v/view?usp=sharing

 

 

4.    กลุ่มข่าว ได้เรียนรู้จากทีมภาคสนามของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรข่าวสมบูรณ์แบบมีทั้งระบบออกอากาศและการสื่อสารออนไลน์เต็มทั้งระบบ จึงเป็นความโชคดีของเยาวชนกลุ่มนี้ที่จะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ระดับมาตรฐานในการสร้างสรรค์ชิ้นงานข่าว มีเยาวชนเลือกเข้ากลุ่มจำนวน 6 คน มีการฝึกอบรมให้รู้จักใช้เครื่องมือ โดยให้ความสำคัญไปที่การใช้เครื่องมือสื่อสารปัจจุบัน คือ โทรศัพท์มือถือ ซี่งตอบโจทย์การสื่อสารจากภาคพลเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงกับช่องทางการสื่อสารผ่านออนไลน์ที่ออกแบบไว้รองรับการสื่อสารจากภาคพลเมืองซึ่งเป็นอนาคตของการสื่อสารอย่างแท้จริงในคำจัดความที่ว่าใครก็เป็นนักสื่อสารได้ เยาวชนกลุ่มข่าวได้ออกแบบเนื้อหาที่สามารถทำงานได้ในพื้นที่จัดงานได้ทันทีโดยทำการสัมภาษณ์คนหาปลาแม่น้ำโขงบางคนที่มาร่วมงาน สัมภาษณ์ศิลปินเจ้าของผลงาน สัมภาษณ์เยาวชนที่มาร่วมอบรม 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


ส่วนเนื้อหาข่าวได้มีการออกแบบเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงเชื่อมโยงมาสู่การสื่อสารเป็นนิทรรศการศิลปะในงานสัปดาห์แม่น้ำโขง รูปแบบชิ้นงานข่าวเป็นลักษณะภาพประกอบเสียงบรรยาย โดยเยาวชนได้ร่วมกันทำงานทุกขั้นตอนภายใต้การดูแลของทีมวิทยากรอย่างใกล้ชิดโดย นางสาววลัยลักษณ์ ชมโนนสูงและ กาญจนา  มัชเรศ จากสำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส และทีมสนับสนุน จากการติดตามการฝึกอบรม 3 วันที่ผ่านมาในการฝึกเรียนรู้การผลิตเนื้อหาข่าว สังเกตได้ว่าน้องๆ ที่ฝึกอบรมได้เห็นประสบการณ์ทำงานจริงในทุกขั้นตอนของการนำเสนอข่าว พลอย ธนัชชา คงพรหม หนึ่งในเยาวชนจาก ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย บอกว่าสนใจในขั้นตอนการทำข่าวในขั้นตอนการวางแผนโดยอยากเรียนรู้ต้องทำอย่างไรในขั้นตอนนั้นโดยนิสัยส่วนตัวเป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยได้วางแผนก่อน พอได้อบรมก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในหลายๆด้านนับว่าเป็นโอกาสอย่างดีสำหรับเยาวชนที่ได้เรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ส่วนตาลใจ วิลาภรณ์ ภาดี เยาวชนจาก บ้านตาดเสริม ตำบลเดียวกัน สนใจที่จะได้คุยกับแหล่งข่าวเกี่ยวกับแม่น้ำโขงจะได้เอามานำเสนอในการเขียนและรูปแบบวีดีโอเล่าเรื่อง ได้ทั้งความรู้จากแหล่งข่าวและความรู้ทางด้านเทคนิคจากการอบรม

 

ลิ้งค์ผลงานข่าว 2 ชิ้น https://drive.google.com/file/d/1LSTQ6ff6uoLZuNREKl-mW3pOw29TKl82/view?usp=sharing https://drive.google.com/file/d/1LSTQ6ff6uoLZuNREKl-mW3pOw29TKl82/view?usp=sharing ผล

 

สรุปโดยภาพรวมของกิจกรรม Mekong Youth Camp NongKhai

 

ความคาดหวังของการออกแบบกิจกรรมในครั้งนี้ หลักๆแล้วทางผู้ออกแบบกิจกรรมต้องการให้เยาวชนในโครงการแม่โขงยั่งยืน (MFF) ได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานจากทีมวิทยากรมืออาชีพในแต่ละด้าน พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนในพื้นที่ชุมชนริมโขงซึ่งห่างไกลจากศูนย์กลางได้มีโอกาสเรียนรู้จากประสบการณ์จริงซึ่งเป็นโอกาสที่มีไม่มากนัก ในส่วนของการผลิตเนื้อหาการสื่อสารเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ในแต่ละศาสตร์วิชาก็เพียงแค่การพาเยาวชนกลุ่มนี้ได้ทดลองปฎิบัติในศาสตร์ที่ตัวเองสนใจ ซึ่งถ้าประเมินจากส่วนประกอบต่างๆ พร้อมทั้งพิจารณาในขั้นตอนการฝึกอบรมแต่ละสาขาแต่ละช่วงเวลา ก็สะท้อนได้ว่าจุดประสงค์ความคาดหวังได้แสดงผ่านตัวผลงาน ผ่านภาพถ่ายกิจกรรม รวมทั้งความสนใจที่ถ่ายทอดผ่านอากัปกริยาต่างๆ ที่แสดงออกมา ได้อย่างน่าพอใจ อีกทั้งเสียงสะท้อนจากเยาวชนที่มาร่วมโครงการได้บอกว่า กิจกรรมมีประโยชน์ ได้รับความรู้ ได้ประสบการณ์การทดลองทำงาน และสนใจจะมาอีกหากจัดขึ้นอีกในครั้งต่อไป สำหรับเนื้อหากิจกรรมได้ถูกนำเสนอผ่านรายการสกู๊ปข่าวของทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (คุณเล่าเราขยาย 2 ตอน) รวมทั้งสื่อออนไลน์อื่นๆที่ได้ติดตาม โดยเนื้อหาข่าว(โดยเฉพาะจากไทยพีบีเอส)ได้มีการให้ความสำคัญกับกิจกรรมเยาวชนในครั้งนี้ในสัดส่วนที่มากเมื่อเทียบกับเวลาของการนำเสนอ ซึ่งติดตามได้จากลิ้งค์

ลิ้งค์ https://www.thaipbs.or.th/program/KhunLao/episodes/96770

https://www.youtube.com/watch?v=JKzB2ZRJTXk

ข่าวที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

P1311080.jpg
P1300917.jpg
P1311178.jpg
P1300891.jpg
P1300857.jpg
P1300831.jpg
P1300809.jpg
P1300911.jpg
P1300968.jpg
P1311171.jpg
Screen Shot 2566-10-01 at 14.07.40.png
Screen Shot 2566-10-01 at 14.08.30.png
P1366708.jpg

งานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขง

28 ก.พ. 2567 ศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง 

บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

bottom of page