หน่วยงานประมง จ.เลย เดินหน้าแก้ปัญหาผลกระทบจากแม่น้ำโขงให้กับชุมชนผ่านกิจกรรม ส่งเสริมและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ลุ่มน้ำพรมแดน ประจำปี 2567 ในรูปแบบการส่งเสริมอาชีพทดแทนรายได้ พร้อมทั้งแผนการปล่อยพันธ์ปลาลงแม่น้ำโขงจากการเพาะฟักเพื่อหวังเพิ่มปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 หน่วยงานประมงจังหวัดเลย นำโดย นางสิริฉัตร สุนทรวิภาต ประมงจังหวัดเลย ร่วมด้วย นายทวีศักดิ์ สกุณา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย และนายกฤษฎา คำประชม หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนอุบลรัตน์ (ขอนแก่น) ได้ร่วมกันจัดฝึกอบรมทักษะอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้กับชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำพรมแดน จากปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจนส่งผลกระทบทั้งทางด้านวิถีชีวิตและรายได้ต่อชุมชน ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลหาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย มีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 57 ราย โดยได้มีการบรรยายเนื้อหาทางด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การเตรียมอาหาร การป้องกันโรค การกระตุ้นฮอร์โมน และการส่งเสริมความเข้าใจทางด้านการอนุรักษ์สัตว์น้ำในช่วงฤดูน้ำแดงเกี่ยวกับเครื่องมือผิดกฎหมายและบทลงโทษต่อการกระทำผิด หลังการบรรยายเนื้อหาได้มีการฝึกทดลองให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมฉีดกระตุ้นฮอร์โมนโดยการปฎิบัติจริง ณ พื้นที่ริมโขงหลังวัดศรีชื่นชม บ้านห้วยเหียม ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และจะมีการแจกพันธุ์ปลาจำนวน 3,000 ตัวให้กับเกษตรกรหรือชาวประมงแต่ละครอบครัว ประกอบด้วยพันธุ์ปลานิลและปลายี่สกเทศเพื่อให้นำไปเลี้ยงเป็นทุนต่อไป โดยใน จ.เลย มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ 100 คน จากพื้นที่อำเภอติดโขง 2 อำเภอ คือ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม
ในแผนโครงการส่งเสริมและบริหารจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่ลุ่มน้ำพรมแดนนี้ นอกจากการส่งเสริมอาชีพเพาะเลี้ยงแล้วยังจะมีกิจกรรมการส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมรายได้ในอีกช่องทางหนึ่งด้วยเพื่อทดแทนรายได้จากปัญหาที่เกิดขึ้น
ในส่วนของพื้นที่จังหวัดเลยจะยังมีการสนับสนุนการเพาะพันธ์สัตว์น้ำโดยเครื่องเพาะฟักเคลื่อนที่เพื่อปล่อยลูกพันธ์คืนสู่แม่น้ำโขงอีกจำนวน 3 ล้านตัวในระยะถัดไป
การขับเคลื่อนงานของกรมประมงในพื้นที่ลุ่มน้ำพรมแดนเกิดจากแผนการพัฒนาด้านการประมงในพื้นที่แม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2566-2570 ใน 8 จังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทรัพยากรประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงได้รับการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืนและรองรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจัดทำแผนงานนี้เกิดจากข้อเรียกร้องของเครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าโดยการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง โดยการรวมตัวกันยื่นหนังสือเรียกร้องการแก้ปัญหาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 จึงได้เกิดแผนการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันและได้เกิดเป็นรูปธรรมในปัจจุบัน
Commentaires