top of page
Screen Shot 2566-05-29 at 13.48.08.png

The Full Story

สุดตา  อินสำราญ
“ลูกหลานเมืองช้าง
สู่ความผูกพันต่อสายน้ำโขง” 
อายุ 48 ปี 
ชาวประมงอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย


เช้าที่ปกคลุมไปด้วยเมฆครึ้มบวกกับอากาศที่หนาวเย็นในช่วงเช้าของต้นฤดูหนาว 
ผู้เขียนได้พบกับน้าสุดตาหนึ่งในชาวประมงแม่น้ำโขงที่มีความช่ำชองในการจับปลาเอิน (หรือปลายี่สก)ไทยได้ในฤดูกาลนี้ น้าสุดตาปัจจุบันอายุ 48 ปี แกเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาว่าเมื่อก่อนพ่อเป็นนายฮ้อยช้างมาจากเมืองช้างสุรินทร์ซึ่งตอนที่พ่อขี่ช้างจากสุรินทร์นั้นจะมากันเป็นกลุ่มนายฮ้อยช้างเพื่อมารับจ้าง ชัก ลาก ไม้ ใหญ่ในป่าแถวอำเภอปากชม จังหวัดเลยและแถบบ้านม่วง บ้านตาดเสริม สังคม ซึ่งปัจจุบันอยูในเขตปกครองของตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย น้าสุดตาเล่าว่า “แต่ก่อนไม้เยอะ พวกกิ้มก่าย 
( ชื่อ นายทุน ท้องถิ่นในหนองคายที่ ซื้อขายไม้) จะประมูลป่าไม้เพื่อตัดไม้นำไปขายต่อ ซึ่งไม้ที่นำไปขายจะมีขนาดใหญ่บางต้นความยาวรอบลำต้นเกือบ 20 เมตรก็มี ตอนนั้นถนนเส้นเลียบแม่น้ำโขงเป็นทางลูกรังยังไม่ได้ลาดยางทำให้การขนส่งไม้ท่อนใหญ่ต้องพึ่งพาช้างในการลาก โดยจะใช้ช้างลากลงมาจากภูเขาและนำมาส่งต่อให้รถบรรทุกเพื่อนำเข้าไปขายในโรงเลื่อยในตัวเมืองหนองคาย บ้างก็ใช้ช้างลากไม้จากเขาสูงไปยังริมโขงเพื่อนำล่องเรือไปขายที่ฝั่งลาวในระหว่างที่พ่อมาทำงานเป็นนายฮ้อยช้างที่นี่พ่อก็ได้พบเจอกับหญิงสาว บ้านม่วงนั่นก็คือแม่ของน้าสุดตาหลังจากพ่อได้พบรักกับแม่จึงได้แต่งงานสร้างหลักปักฐานที่บ้านม่วงนับตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา
น้าสุดตายังได้เล่าภาพจำเกี่ยวกับในช่วงการค้าขายไม้ให้ผู้เขียนฟังว่าตอนนั้นแกมี อายุราวๆ 6-7 ขวบ เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านม่วง ซึ่งตั้งอยู่ติดกับถนนที่ใช้เป็นทางสัญจรหลัก การบรรทุกไม้ของรถบรรทุกก็ใช้เส้นทางเส้นนี้ด้วยเช่นกัน หากวันใดมีรถบรรทุกไม้วิ่งผ่านน้าสุดตาและเพื่อนๆจะรีบวิ่งไปช่วยกันปิดประตูหน้าต่างของห้องเรียน เนื่องจากรถบรรทุกไม้นั้นมีขนาดใหญ่และวิ่งเร็ว วิ่งผ่านทีฝุ่นตลบอบอวนไปหมดเพราะถนนยังเป็นถนนดินแดง น้าสุดตากับเพื่อนๆเจอเหตุการณ์แบบนี้อยู่ประมาณ 3 - 4 ปี การขนไม้ลากไม้ก็หายไป เพราะไม้ใหญ่หมดจากป่า พ่อของน้าสุดตาจึงตัดสินใจขายช้างที่มีด้วยราคา 4,000-5,000 บาท


น้าสุดตาได้เริ่มเรียนรู้วิธีการหาปลามาตั้งแต่อายุประมาณ 7 ขวบ โดยในช่วงแรกจะเป็นการขึ้นเรือไปกับพ่อแม่ก่อนทำหน้าที่เป็นลูกเรือคอยช่วยหยิบจับของในเรือและได้เริ่มฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น แห เบ็ดในอดีตนั้นน้าสุดตาบอกว่าเมื่อเวลาได้ปลามาจะนำแจกจ่ายแบ่งปันให้กับคนในหมู่บ้าน บ้างก็เอาข้าวมาแลกปลา บ้างก็เอาปลาไปแลกผัก จะไม่มีการซื้อขายจะเป็นการช่วยเหลือกัน แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ผู้เขียนเห็นรอยยิ้มของแกขณะที่เล่าเรื่องนี้ ฟังแล้วทำให้ผู้เขียนสามารถรับรู้ได้ว่าการใช้ชีวิตในอดีตนั้น มีความสุขมากเพียงใดจากเรื่องราวของการแบ่งปัน ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงในเวลาที่น้าสุดตาลงเรือก็จะมีปลาใหญ่ๆมาเล่นให้เห็นเป็นประจำบ้างก็มาเล่นใต้ท้องเรือ เรือก็จะโคลงเคลงนิดหน่อย บ้างก็มาว่ายข้างเรือแล้วโผล่หัวขึ้นมาแล้วดำน้ำลงไปพอหางชี้ขึ้นก็จะตีน้ำให้น้ำนั้นสาดเข้ามาในเรือ การเล่าอาการดำผุดดำว่ายของปลาใหญ่ทำให้ใบหน้าน้าสุดตาเล่าไปด้วยรอยยิ้มเปื้อนสุข แกบอกว่าเวลาที่มีปลาตัวใหญ่ๆ เช่นปลาเอิน ปลาเลิม มาติดลวงติดเบ็ดจะดีใจมากเพราะปลาที่ว่านั้นมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 100-200 กิโลกรัม โดยเฉพาะปลาเลิม ส่วนเทคนิคในการตกปลาชนิดนี้จะใช้เหยื่อเป็นเนื้อเน่าล่อเพราะพวกมันชอบกินน้าสุดตาบอกว่าจากประสบการณ์การหาปลาของน้าสุดตามาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แกได้เล่าถึงภูมิความรู้เรื่องของปลาเอินว่า ปลาเอินเป็นปลาที่กินทั้งสัตว์และพืชถ้าหากเป็นพืชปลาเอิน จะกินจำพวกสาหร่าย ไก หากเป็นสัตว์ปลาเอินมักจะกินจำพวก กุ้งฝอย ไส้เดือน


แกคิดว่าปลาเอินที่พบในแม่น้ำโขงนั้นมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันชนิดแรกจะมีลักษณะลำตัวที่ป้อมมีลวดลายสีดำและส่วนชนิดที่สองมีลักษณะลำตัวยาวและมีลวดลายสีดำเช่นเดียวกันกับชนิดแรก ปลาเอินนั้นมักจะชื่นชอบอาศัยอยู่ในระบบนิเวศตามแอ่งน้ำลึก แต่ปลาเอิน จะผสมพันธุ์กันในแหล่งน้ำตื้นประมาณ 5-7 เมตร ซึ่งโดยปกติฤดูผสมพันธุ์และฤดูวางไข่ของปลาเอินจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม โดยเมื่อปลาเอินผสมพันธุ์เสร็จจะวางไข่ในพื้นที่ที่เป็นลักษณะที่มีหินกรวดและเป็นเนินทราย ส่วนมากจะเจอและจับปลาเอินได้ที่หาดทรายใหญ่ (สันดอน) และขึ้นในพื้นที่เดิมในทุกๆปี ไม่กี่ปีที่ผ่านมาน้าสุดตาเองก็เคยพบว่าปลาเอินได้มีการขึ้นมานอกฤดูที่จะผสมพันธุ์ คิดว่าเป็นเพราะ การขึ้นลงของน้ำที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติทำให้ปลามีความตื่นน้ำ จากเท่าที่สังเกตตั้งแต่น้าสุดตาจับปลาเอินมาพบว่าปลาเอินนั้นจะขึ้นมากันเป็นคู่และจะมีจำนวนตัวผู้และตัวเมียที่เท่าๆกันไป ซึ่งก่อนที่จะหาปลาหรือลงเรือในแต่ละครั้งก็จะมีการบอกกล่าวและบนให้หาปลาได้ถึงจำนวนที่ต้องการแล้วถึงแก้บนหากไม่ได้ก็ไม่แก้บน โดยของที่บนก็จะมีไก่ เหล้า ขนม (1ปีทำการบน1ครั้ง) เมื่อก่อนราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 200 บาทที่ส่งให้กับแม่ ค้าที่ตลาดและร้านอาหารแต่ถ้าขายให้กับคนที่อยู่ในหมู่บ้านจะขายให้โดยราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาทเมื่อก่อนจับปลาแต่ละครั้งได้เงินเป็นจำนวนมากเป็นจำนวนมาก

เมื่อเทียบกับปีนี้แล้วนั้นแทบจะหาไม่ได้เลย แต่แล้วสีหน้าของน้าสุดตาก็เริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน “ทุกวันนี้จะหาปลาตัวใหญ่อย่างนั้นไม่ได้หรอกยากมากที่จะหาได้เพราะขนาดปลาตัวเล็กยังไม่มีให้จับอย่างวันนี้ไปไหลมองมาได้แต่ไก(สาหร่าย)มาติดปลาไม่มีมาติดเลยหลายวันแล้วด้วย น้ำมันใช้เติมเครื่องยนต์วิ่งเรือก็ไปซื้อเขาวันละ 50-60 บาทวิ่งมาทั้งวันปลา 1 ตัวก็ยังไม่ได้ ไม่ใช่แค่น้าที่ไม่ได้ คนอื่นก็ไม่ได้เหมือนกันเป็นอย่างนี้มา 3-4 ปีแล้ว” น้าสุดตาเริ่มมีน้ำเสียงที่ดูท่าทีหงุดหงิดและไม่พอใจยิ่งขึ้น เมื่อเล่าต่อไปอีกว่าน้ำก็เปลี่ยนแปลงไม่มาตามฤดูกาล 3 วันดี 4 วันไข้ น้ำขึ้นๆลงๆปลาก็หายแล้วคนหากินจะอยู่กันได้อย่างไร 

น้าสุดตาจับปลาเอินได้แค่ 1 ตัวน้ำหนัก 11 กิโลกรัมจับมาได้ก็นำไปขาย เนื่องจากเป็นปลาที่เป็นความต้องการของตลาดได้เงินมา 1,870 บาท เงินที่ขายได้มานั้นก็ได้นำแบ่งคนละครึ่งกับลุงซึ่งเป็นเจ้าของลวงมอง (พื้นที่จับจองในการหาปลามาตั้งแต่อดีต) กฎนี้ถูกตั้งขึ้นเมื่อลุงของน้าสุดตานั้นหาปลาไม่ได้แล้วให้น้าสุดตาไปหาปลาในลวงนั้นแทน โดยมีกฎกติการร่วมกันคือหากได้ปลามาต้องแบ่งคนละครึ่งหรือถ้าหากนำไปขายแล้วได้เงินมาก็ต้องแบ่งคนละครึ่งด้วยเช่นกัน น้าสุดตายึดถือและซื่อสัตย์กับกฎข้อนี้มาตลอดเพราะแกเชื่อว่าถ้าหากคดโกงหรือไม่ซื่อสัตย์กรรมจะตามมาอาจจะมาในรูปแบบของปลาไม่เข้าลวงบ้าง โดนขโมยปลาจากลวงบ้างเมื่อเล่ามาถึงเรื่องของการขโมยปลา ก็ได้เล่าต่อว่า “อย่างวันนี้น้าได้ปลาใหญ่หลายสิบกิโลกลางคืนภายในวันนั้นก็จะมีคนมา แอบดูลวงมองของเราถ้าหากปลาใหญ่ติดเขาก็จะใช้มีดกรีดตาข่ายเป็นวงขนาดใหญ่” น้าสุดตาแถมท้ายเรื่องขโมยไว้ว่าที่น้าสุดตาโดนขโมยไม่ใช่ว่าน้าสุดตาโกงหรือไม่ซื่อสัตย์แต่เป็นเพราะว่าเวลาที่ใครได้ปลาใหญ่ก็จะเป็นข่าวที่ดังไปทั่วคุ้งน้ำจนถึงหูหัวขโมยนั่น
แและเป็นสาเหตุที่มันหายไปพูดจบพร้อมกับหัวเราะร่อในวัย 48 ปีของน้าสุดตานั้นนับ


ได้ว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญของบ้านตั้งแต่หาปลาไม่ได้น้าสุดตาก็ได้หันมาทำอาชีพเกษตรกรแทนนั่นคือสวนยางพาราซึ่งยางพาราเคยทำเงินให้น้าสุดตามากถึงเดือนละ 20,000-30,000 บาท เงินที่ได้มาก็นำไปใช้จ่ายในครอบครัวเป็นหลักส่งหลานเรียนหนังสือเงินที่เหลือจากค่าใช้จ่ายหลักก็จะนำไปซื้อน้ำมันมาเติมเครื่องยนต์เรือเพื่อที่จะได้ไปหาปลาที่ลวงมองน้าสุดตาบอกว่าตนนั้นมีลวงมอง 3 ลวง ได้แก่ คกป่าแก่ คกอีทิพย์และปากคอนขาม “ทุกเช้าก็จะแวะไปดู 3 ลวงนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปลาก็จะพยายามทำงานหาเงินเพื่อซื้อน้ำมันไปเติมเรือเพื่อที่จะได้ล่องเรือในแม่น้ำโขงไปดูลวงมองมันเป็นความผูกพันไปแล้วเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้วลงไปเฉยๆเราก็ลงขอแค่ได้ลงเรือไปดูก็มีความสุขมาแล้ว” 

น้าสุดตา อินสำราญ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมงานของสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน ของต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำงานอนุรักษ์ให้ฟังว่าเมื่อก่อนก็ได้แต่สงสัยว่าทำไมช่วงหลังๆมาน้ำในแม่น้ำโขงเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงเลยคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่น่าจะมีเหตุผลอื่นมาเกี่ยวข้องแต่เมื่อได้พบกับคุณอ้อมบุญหรือคุณบึ้งที่เขตอภัยทานหน้าวัดท่าสองคอน ต.บ้านม่วง คุณบึ้งก็ได้ชวนคุยเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เราต่างพบเจอและได้ชักชวนให้มาหาสาเหตุถึงความเปลี่ยนแปลงของน้ำที่เกิดขึ้นร่วมกัน นี่ก็นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในด้านการปกป้องดูแลแม่น้ำโขงตลอดมาจนถึงปัจจุบันโดยกิจกรรมงานอนุรักษ์สำคัญที่กำลังทำร่วมกันกับชาวประมงร่วมกับสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัด ภาคอีสานและ IUCN (The International Union for Conservation of Nature)คือโครงการอนุรักษ์และปกป้องปลาเอินในพื้นที่แม่น้ำโขง น้าสุดตายังได้เล่าอย่างความภาคภูมิใจอีกว่า “ถึงแม้คนภายนอกจะมาถามว่าทำไปแล้วได้อะไรทำไปทำไม น้าสุดตาก็ตอบอย่างจริงใจว่าการที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็เพื่อปากท้องพี่น้องชาวประมง เพื่อพี่น้องที่อยู่ริมฝั่งโขงที่ได้รับผลกระทบจะทำมากทำน้อยก็ขอแค่ได้ทำและยังคงมีความหวังต่อความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” นี่คือคำพูดทิ้งท้ายของน้าสุดตาก่อนที่บทสนทนาระหว่างผู้เขียนกับน้าสุดตาจะสิ้นสุดลง

เราจะเห็นได้ว่าแม่น้ำโขงไม่เพียงแค่เป็นแม่น้ำที่ไหนผ่านบ้านม่วงเพื่อออกสู่ทะเล จีนใต้เพียงอย่างเดียวแต่แม่น้ำโขงนั้นได้หล่อเลี้ยงชีวิตของคนในชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณ ลุ่มแม่น้ำโขงทั้งภาคการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว และการอุปโภคบริโภค นับได้ว่าแม่น้ำโขงนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของชาวบ้านในชุมชนลุ่มน้ำโขงเป็นอย่างมาก อย่างในกรณีของน้าสุดตาที่ได้เล่าถึงความผูกพันที่มีต่อสายแม่น้ำโขง ต่อให้ไม่มีปลาก็ยังลงเรือเพื่อไปหาปลาและทั้งทำงานเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขงสิ่งที่เกิดขึ้นนี้สามารถอธิบายได้ถึงความรักความผูกพันของน้าสุดตาลูกหลานเมืองช้างที่มีความรักและความผูกพันกับแม่น้ำโขงได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งนั่นเอง

P1366708.jpg

งานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขง

28 ก.พ. 2567 ศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง 

บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

bottom of page