top of page

เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาติดตามการทำงานแม่น้ำโขงกับภาคประชาสังคมในจังหวัดหนองคาย

LINE_ALBUM_USAID_231030_5.jpg

วันที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 16.00 น. คณะเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกา นำโดย มิส นิโคล สโมลินสกี หัวหน้ากลุ่มงานแม่น้ำโขง กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาพบทีมงานสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จว. ภาคอีสาน(Comnet Mekong) ที่สำนักงานบ้านเอื้ออาทร ถ.มิตรภาพ อ.เมือง จ.หนองคาย เพื่อรับฟังการทำงานเกี่ยวกับสถานการณ์แม่น้ำโขง รวมทั้งข้อเสนอและปัญหาอุปสรรคของการทำงานที่ผ่านมา ทั้งนี้นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมฯ และทีมงานได้ให้การต้อนรับพร้อมทั้งได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวการทำงานตลอดเวลาของการพูดคุยประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ 

 

 

“เราเป็นเครือข่ายพี่น้องประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการแก้ปัญหาเพราะมันเกิดผลกระทบหลายด้านที่หน่วยงานรัฐไม่สามารถแก้ปัญหาให้ได้ พี่น้องชุมชนทนรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงได้ก่อเกิดเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เป็นรูปธรรม” นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ได้กล่าวเริ่มต้นต่อเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาให้ได้รับทราบถึงที่มาขององค์กรจนถึงการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในหลายๆด้านที่ได้ทำมาและกำลังดำเนินการ ที่ผ่านมาทาง คสข. ได้เริ่มต้นจากการเชื่อมโยงผู้คนที่รับผลกระทบในหลายกลุ่ม ทำงานเก็บข้อมูล รวมทั้งงานรณรงค์ต่างๆ และก็ได้สื่อสารออกไปถามหาผู้รับผิดชอบ จนไปถึงการร่วมฟ้องร้องต่อศาลในปี 2556  แม้สุดท้ายอำนาจทางกฎหมายไม่สามารถแก้ปัญหาให้ทางเครือข่ายได้ แต่การเคลื่อนไหวต่างๆทำให้ได้รับรู้ว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในประเด็นไหน ทั้งที่ในข้อเท็จจริงหน่วยงานต่างๆก็รับรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่การแก้ปัญหากลับทำได้ช้าและไม่คืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากเงื่อนไขปัญหาระหว่างประเทศเข้ามาประกอบเป็นสำคัญ

 

ปัจจุบันสมาคมฯเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ Mekong for the future (MFF) โดยความร่วมมือและสนับสนุนจาก องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ซึ่งเป็นงบประมาณภายใต้หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศสหรัฐ (USAID) ภายใต้แผนการเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนริมโขงในจังหวัดเลยและจังหวัดหนองคายให้รู้เท่าทันสถานการณ์ สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม การวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลชุมชน การออกแบบโครงการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาทักษะเยาวชนด้านการสื่อสาร ทั้งนี้ความท้าทายของการดำเนินการโครงการที่สำคัญคือการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาสังคมระดับภูมิภาคเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน การทำงานในพื้นที่โครงการของจังหวัดเลยและหนองคายภายใต้โครงการ Mekong for the future (MFF) เปรียบเสมือนโครงการนำร่องเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนริมโขงที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหา ให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลง เรียกร้องและต่อรอง จนถีงสามารถตรวจสอบความโปร่งใสและเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาได้ ทั้งนี้ในพื้นที่ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม จ.เลย และ ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย คือพื้นที่ที่ตั้งอยู่ในโครงการเขื่อนปากชมในอนาคตอันใกล้ โดยโครงการ MFF ได้ดำเนินการผ่านมาแล้ว 6 เดือน

 

นายสมาน แก้วพวง ในฐานะคณะทำงานของโครงการและเป็นประชาชนในพื้นที่ได้นำเสนอถึงกระบวนการการทำงานที่กำลังออกแบบโครงสร้างให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม และร่วมขับเคลื่อนแผนการทำงานหลักๆ ไปด้วยกันในแต่ละด้านคือ การปรับตัวโดยการพัฒนาอาชีพรายได้ ส่งเสริมกลุ่มอาชีพ การส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การพัฒนากลไกการทำงานของชุมชนและพัฒนาทักษะการทำงานศึกษาวิจัย(วิจัยไทบ้าน) รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในพื้นที่เพื่อทำงานเก็บข้อมูลและออกแบบการสื่อสารสู่สาธารณะ ซึ่งขณะนี้โครงการได้ดำเนินการในระยะแรกผ่านไปได้เป็นอย่างดี โดยได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเข้าร่วมหารือประชุมวางแผนร่วมกันและกำลังจะดำเนินการตามแผนในระยะถัดไป ทางด้านนายปรีชา ศรีสุวรรณ ผู้รับผิดชอบงานด้านพัฒนาศักยภาพเยาวชนด้านงานสื่อสารได้ประเมินการทำงานให้ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตฟังว่า เยาวชนในพื้นที่ปัจจุบันมีความพร้อมมีความสามารถต่อการสื่อสารสมัยใหม่แต่การดำเนินโครงการด้านนี้ต้องมีความต่อเนื่องจึงจะสามารถนำไปสู่เป้าหมายได้ ส่วนในอนาคตมีความคาดหวังที่จะเชื่อมโยงเยาวชนในภูมิภาคแม่น้ำโขงไว้ด้วยกัน สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ส่งต่อข้อมูลต่อกันได้และสามารถสร้างเนื้อหาเพื่อการสื่อสารร่วมกันได้ แต่ทั้งหมดยังต้องใช้เวลาและงบประมาณในการขับเคลื่อนเป็นระยะเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่คาดหวังอยากจะให้เกิดขึ้นจริง

 

 

เจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกาได้ให้ความสนใจต่อประเด็นความร่วมมือระหว่างภูมิภาคในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่างและได้ซักถามถึงแผนการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรค โดยทางสมาคมฯได้ชี้แจงว่า ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการ MFF ขณะนี้เครือข่ายคนฮักน้ำโขงได้มีการประชุมพูดคุยทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการไปแล้วหลายครั้งมีความคืบหน้าเป็นระยะ ไม่นานหลังจากนี้คงมีรูปแบบที่ชัดเจนออกมาให้เห็น มีการออกแบบแผนการทำงาน 8 ด้านที่สำคัญ ที่เชื่อมโยงกับปัญหาในพื้นที่ ส่วนปัญหาความแตกต่างของการเมืองการปกครองในแต่ละประเทศลุ่มน้ำโขง เบื้องต้นเราสามารถเชื่อมโยงกันด้วยศิลปะวัฒนธรรมต่างๆ ที่มีความเหมือนและความคล้ายคลึงกันเป็นตัวเชื่อมให้ได้มาพูดคุยกัน รับฟังกัน เหมือนการจัดงานในวาระ สัปดาห์แม่น้ำโขงมารดาแห่งสายน้ำที่ผ่านมา ทำให้แต่ละพื้นที่ริมโขงในประเทศไทยได้มาพูดคุยกันรวมทั้งภาคประชาสังคมจาก สปป.ลาว ก็ได้มาพบปะรู้จักกัน ทำให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้รับทราบความเป็นไปในประเด็นต่างๆอย่างใกล้ชิด และยังเชื่อว่าความร่วมมือจะช่วยขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เป็นไปได้อย่างเหมาะสมได้ในอนาคตต่อไป

 

นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ได้ยกตัวอย่างการปรับวิธีคิดการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรในการร่วมมือทำงานกับหน่วยงานภาครัฐทำให้ออกแบบแผนการแก้ปัญหาร่วมกันภายใต้แผนประมงแม่น้ำโขง ซี่งไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าแผนปัจจุบันอาจยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการจากภาครัฐ แต่ก็ทำให้เห็นรูปธรรมของการแก้ปัญหาค่อยๆพัฒนาไปทีละขั้น ซึ่งยังต้องใช้เวลาไปสู่เป้าหมาย โดยบทบาทการทำงานของสมาคมฯ เองมีทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาวที่ต้องการการสนับสนุนด้านงบประมาณเช่นกัน เพื่อขยายพื้นที่การทำงาน และขยายประเด็นเนื้อหาให้ครอบคลุมในหลายๆด้าน เช่น ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงและเด็ก พลังงาน สารเคมีและขยะพลาสติก ความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นต้น นางอ้อมบุญ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นับเป็นความโชคดีของภาคประชาสังคมเล็กๆอย่าง คสข.ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศในการสนับสนุนงบประมาณการทำงาน และเปิดโอกาสให้เราได้เข้าไปเป็นตัวแทนพี่น้องชาวบ้านนำเสนอเรื่องราวประเด็นปัญหาแม่น้ำโขงในเวทีสำคัญอย่างเช่น เวทีของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง หรือ MRC ซึ่งก่อนหน้านี้แทบไม่มีโอกาสแบบนี้มาก่อน ทำให้เสียงชาวชุมชนในพื้นที่ได้ดังขึ้น ได้เข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนเชิงนโยบาย อีกทั้งได้เชื่อมโยงภาคประชาสังคมในภูมิภาคไว้ด้วยกัน นับเป็นวาระสำคัญและมีค่ายิ่งสำหรับการทำงานของเครือข่ายชุมชนริมโขงในประเทศไทยตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน

 

ท้ายสุด ทางเจ้าหน้าที่จากสถานทูตอเมริกาได้กล่าวชื่นชมการทำงานของเครือข่ายชุมชนริมน้ำโขงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาก็อยากเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆกัน พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาในหลายด้าน และได้กล่าวว่ายินดีที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันในโอกาสต่อๆไป การเดินทางมาจังหวัดหนองคายในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาได้เดินทางเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดมาก่อน เพื่อรับทราบข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของเมืองพื้นที่ชายแดนที่เป็นพื้นที่เชื่อมโยงการค้าในภูมิภาค รวมทั้งต้องการสร้างความสัมพันธ์อันดีและร่วมพิจารณาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหรือประเด็นอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

จินตนา 01.jpg
P1300743.jpg
P1300709.jpg
LINE_ALBUM_USAID_231030_10.jpg
LINE_ALBUM_USAID_231030_15.jpg
MRC 2.jpg
P1300213.jpg
P1366708.jpg

งานรวมพลคนฮักแม่น้ำโขง

28 ก.พ. 2567 ศูนย์โฮมฮักแม่น้ำโขง 

บ้านภูเขาทอง ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย

bottom of page